วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562

"เอลนีโญ" ปีนี้มาเร็ว-ฤดูร้อนยาวนาน หวั่นแล้งหนักทุกภูมิภาค

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีเสวนา รับมือภัยแล้ง ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ชี้ปีนี้เสี่ยงหนักทั่วทุกภูมิภาค กรมอุตุฯ จับตา "เอลนีโญ-ลานีญา" คาดฤดูร้อนปีนี้ยาวนาน...


รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเปราะบางต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก โดยปี 2559 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในโลกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดวิกฤติภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี มีพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นเขตผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ถึง 29 จังหวัด และมี 51 จังหวัดขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2.87 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 15,514.65 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 นี้ ยังมีรายงานจากหลายหน่วยงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะมาเร็วกว่าทุกปี และคาดว่าปริมาณฝนตกจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงทำให้ปีนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งทุกภูมิภาค

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ความเสี่ยงด้านพิบัติภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (THAI GLOB) จัดเวทีเสวนา "Global Warming Forum : เตรียมรับความเสี่ยงภัยแล้ง 2562" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ข้อมูลวิชาการและสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญในปีนี้ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
"เวทีครั้งนี้ถือเป็นโอกาสและการเริ่มต้นที่ดีในการมองภาพรวมสถานการณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันร่วมกัน เพื่อยกระดับข้อมูลให้สอดรับกับสภาวะภัยแล้ง ให้สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ และเป็นประเด็นท้าทายที่นำผลลัพธ์ที่ได้ไปกำหนดทิศทางเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคตได้ต่อไป" อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว




ด้าน ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปริมาณฝนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าแนวโน้มมีค่าน้อยกว่าค่าปกติ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ปัจจัย คือ 1.ลมมรสุม ซึ่งปกติจะต้องพัดเอาความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิกมาสู่ตอนเหนือของประเทศไทย แต่ทิศทางเวลานี้กลับพัดเอาความแห้งแล้งเข้ามา และ 2.อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา
"ปกติต้องมีความรุนแรงสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจนถึงเดือนมกราคม แล้วค่อยๆ อ่อนกำลัง แต่ปีนี้กลับอยู่ในสภาพทรงตัว ซึ่งยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และยังชี้ชัดไม่ได้เช่นกันว่านี่เป็นสาเหตุทำให้ลมมรสุมไม่พัดเอาความชื้นเข้ามาด้วยหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปนานๆ ก็อาจทำให้เกิดความแห้งแล้งสะสมขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามจับตาและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด" ดร.ชลัมภ์ กล่าว
นอกจากนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ฤดูร้อนในปีนี้ยาวนานกว่าปกติที่โดยทั่วไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะมีฝนเข้ามา แต่ปีนี้น่าจะมาช้ากว่าเล็กน้อย เนื่องจากทิศทางของลมยังเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากยังยืดเยื้อต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อฤดูฝน อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามสถานการณ์ดูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถวางแผนการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
Share this article

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Distributed By Free Blogger Templates | Template Design by BTDesigner • Powered by Blogger
back to top